17 องค์กรแพทย์ ผนึกกำลังออกข้อเสนอเกี่ยวกับนโยบายกัญชา ติงแนวคิดกัญชาไม่ใช่ยาเสพติดให้โทษ และการให้ประชาชนปลูกและใช้กัญชารักษาโรคเอง กำลังก่อปัญหาในปัจจุบันและผลเสียต่อไปในอนาคต พร้อมเสนอ 5 หลักการการใช้กัญชาทางการแพทย์ให้เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย
วันที่ 6 กันยายน 2565 แพทยสภา แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ และราชวิทยาลัยแพทย์เฉพาะทางฯ ร่วม 17 องค์กร ได้ร่วมออก “ข้อเสนอเกี่ยวกับนโยบายกัญชาของประเทศไทย” โดยระบุว่า แนวคิดในการบริหารจัดการกัญชา พืชกัญชา และวัตถุหรือสารต่าง ๆ จากกัญชา 2 ข้อ กำลังก่อปัญหาในปัจจุบันและผลเสียต่อไปในอนาคต คือ 1.กัญชาไม่ใช่ยาเสพติดให้โทษ และ 2.การให้ประชาชนปลูกและใช้กัญชารักษาโรคเอง
พร้อมเสนอ 5 หลักการการใช้กัญชาทางการแพทย์ให้เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย โดยระบุว่า
กัญชามีสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทมากมาย โดยเฉพาะสารเตตระไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydro cannabinol, THC) ซึ่งมีฤทธิ์เสพติดและมีมากในช่อดอก สารนี้ทำให้เคลิบเคลิ้ม เกิดการเสพติดและอยากเสพเพิ่มขึ้นได้ ทำให้ผู้เสพติดไม่สามารถควบคุมตนเองได้
การเสพติดกัญชาเป็นโรคที่ถูกระบุอยู่ในระบบการวินิจฉัยโรคสากลและต้องได้รับการรักษา กัญชาเป็นอันตรายต่อสุขภาพในระยะสั้นได้ (เช่น ทำให้เกิดอุบัติเหตุ หัวใจเต้นผิดจังหวะ อาการโรคจิต) และเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีปัญหาสุขภาพทรุดโทรมในระยะยาว (เช่น เชาวน์ ปัญญาเสื่อม โรคจิตเภท โรคหัวใจและหลอดเลือด) ปัญหาสุขภาพเหล่านี้พบบ่อยและรุนแรงมากขึ้นในเด็กและวัยรุ่น สตรีตั้งครรภ์ และสตรีให้นมบุตร
จากเหตุผลดังกล่าว กัญชา พืชกัญชา และวัตถุหรือสารต่าง ๆ จากกัญชาที่มี THC สูงหรือไม่ทราบปริมาณ ที่แน่ชัด ทั่วโลกจึงกำหนดกัญชาให้เป็นยาเสพติตให้โทษและเป็นสาระสำคัญของข้อเสนอนี้
กัญชาทางการแพทย์นำมาใช้ได้เมื่อผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อยาและวิธีการรักษาตามมาตรฐาน ปัจจุบันแพทย์ใช้ กัญชาบรรเทาอาการได้ไม่เกิน 6 ภาวะ และเป็นการบรรเทาอาการเท่านั้น การใช้ในกรณีอื่นควรทำในรูปแบบงานศึกษาวิจัย
กฎหมายของประเทศไทยได้กำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 มานาน แต่ประกาศของกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 (ซึ่งมีผลเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2565) ทำให้ทุกส่วนของกัญชาไม่เป็นยาเสพติดให้โทษอีกต่อไป ส่งผลให้ประชาชนทั่วไป สามารถปลูกและเสพกัญชาได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งก่อให้เกิดผลเสียมากมายต่อสุขภาพ ครอบครัวและสังคม ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ประเทศไทยขณะนี้มีแนวคิดหลากหลายในการบริหารจัดการกัญชา พืชกัญชา และวัตถุหรือสารต่าง ๆ จากกัญชา แต่แนวคิด 2 ข้อที่กำลังก่อปัญหาในปัจจุบันและผลเสียต่อไปในอนาคต คือ
1.กัญชาไม่ใช่ยาเสพติดให้โทษ : ในทางการแพทย์และกฎหมายสากล กัญชาคือยาเสพติดให้โทษ จึงต้องมีกฎหมายควบคุมเพื่อไม่ให้ใช้ในทางที่ผิด การกำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษตามทางการแพทย์และกฎหมายสากล จะทำให้หน่วยงานรัฐนำกฎหมายและข้อบังคับเกี่ยวกับยาเสพติดมาควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดได้
การมุ่งให้ความรู้โดยไม่มีกฎหมายควบคุม ไม่สามารถจัดการปัญหายาเสพติดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังจะเห็นว่า หลังวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2565 องค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ มากมายต้องออกกฎระเบียบของตนเพื่อปกป้องคนในองค์กรหรือหน่วยงานจากกัญชาแทนกฎหมายจากรัฐบาล
2.การให้ประชาชนปลูกและใช้กัญชารักษาโรคเอง : แนวคิดนี้ขัดแย้งกับกัญชาทางการแพทย์และการควบคุม การใช้กัญชาในทางที่ผิด เนื่องจาก
(ก) กัญชาที่ประชาชนทั่วไปปลูกเป็นกัญชาที่ไม่มีคุณภาพและปนเปื้อนง่าย : กัญชาเป็นพืชที่ดูดซับสารพิษ และโลหะหนักได้มาก การปลูกแบบมีคุณภาพทำได้ยากและทำให้สารสำคัญ เช่น THC, CBD ในผลผลิตมีปริมาณที่ไม่แน่นอน
(ข) ประชาชนไม่มีความรู้ด้านกัญชาทางการแพทย์มากพอ : ในขณะที่กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษที่อันตราย กัญชาทางการแพทย์ก็เป็นศาสตร์ที่ลึกซึ้งและมีรายละเอียดมาก เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย ประเทศไทยและประเทศต่าง ๆ ได้กำหนดให้แพทย์และเภสัชกรต้องได้รับการอบรมกัญชาทางการแพทย์ก่อนจึงจะให้รักษาได้ การให้ผู้ที่ไม่มีความรู้ด้านกัญชาทางการแพทย์รักษาผู้ป่วย นอกจากจะไม่เกิดประโยชน์แล้ว ยังอาจก่อให้เกิดโทษร้ายแรงต่อผู้ป่วยได้อีกด้วย
(ค) การไม่สามารถแยกระหว่างกัญชาทางการแพทย์กับกัญชาเพื่อนันทนาการ : ผู้ที่เสพกัญชาเพื่อนันทนาการ สามารถใช้เหตุผลทางการแพทย์เพื่อคงการใช้แบบนันทนาการของตน
(ง) เยาวชนหรือคนอื่นเข้าถึงกัญชาได้โดยง่าย : เนื่องจากผู้ปลูกอาจจะมีความย่อหย่อนในการป้องกันการเข้าถึงกัญชาของเยาวชนหรือคนอื่น
(จ) การนำกัญชาไปผสมอาหารจนเกิดผลเสียต่อสุขภาพ โดยไม่สามารถหาผู้รับผิดชอบได้ (ฉ) การเสพเพื่อนันทนาการที่บ้านไม่เป็นความผิด ทั้งที่การเสพนั้นจะเป็นผลเสียต่อผู้เสพและผู้ใกล้ชิดในครอบครัว รวมทั้งเด็กและเยาวชน ทั้งในระยะฉับพลันและระยะยาว
การทำให้กัญชาทางการแพทย์เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ควรมีหลักการเบื้องต้น ดังนี้
1.การดำเนินการและการบำบัดรักษาโรค/ภาวะใด ต้องอิงหลักฐานเชิงประจักษ์แบบปัจจุบัน ส่วนความเชื่อ หรือความรู้ดั้งเดิมนั้น ให้มีการพิสูจน์ด้วยกระบวนการวิจัยที่ได้มาตรฐาน จนทราบถึงประโยชน์และโทษอย่างถ่องแท้ก่อนนำไปใช้กับผู้ป่วย
2.ผลิตภัณฑ์กัญชาต้องมีคุณภาพและอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติยา : เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยผลิตภัณฑ์กัญชา ผลิตภัณฑ์ที่นำมาใช้ต้องไม่มีสารปนเปื้อน ใช้สารสกัดและมีปริมาณของสารออกฤทธิ์ที่สำคัญ คือ THC และ CBD คงที่ในทุกผลิตภัณฑ์ที่จำหน่าย ผลิตภัณฑ์กัญชาเพื่อการแพทย์ควรอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติยา เช่น มีการขึ้นทะเบียนยา ข้อบ่งใช้ ข้อห้ามใช้ข้อควรระวัง เอกสารกำกับยา เป็นต้น
3.กลุ่มผู้ให้การรักษา เช่น แพทย์ เภสัชกร ต้องได้รับการอบรมการใช้กัญชามาก่อน
4.ผู้ป่วยต้องได้รับการคัดกรองและประเมินตั้งแต่ก่อน ระหว่าง และหลังการรักษา
5.มีหน่วยงานภาครัฐกำกับดูแลผลิตภัณฑ์กัญชา เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จัดหา และบริหารผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ โดยอาจดำเนินการเช่นเดียวกับยาเสพติดให้โทษประเภท 2 ที่ถูกนำมาใช้ทางการแพทย์อยู่แล้ว เช่น มอร์ฟีน เมธาโดน ด้วยวิธีการเช่นนี้ นอกจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จะจัดหาผลิตภัณฑ์กัญชาที่มีคุณภาพให้แล้ว ยังสามารถควบคุมมิให้เกิดการนำผลิตภัณฑ์กัญชาไปใช้ในทางที่ผิดได้อีกด้วย
เนื่องจากหลายประเทศยังกำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษ และกัญชาที่ได้จากการปลูกโดยบุคคลทั่วไป ไม่มีคุณภาพและมีสารปนเปื้อนสูง
ระบบการปลูกและผลิตกัญชาของไทยในปัจจุบันจึงไม่สามารถส่งออกไปขายยังต่างประเทศและก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศได้ การส่งเสริมการปลูกกัญชามากจะทำให้กัญชาล้นตลาด (ภายในประเทศ) ราคาต่ำลงและนำมาใช้เองได้ง่าย หรือเกิดแรงจูงใจให้ใช้เองมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้เพื่อนันทนาการ ทำให้ได้รับสารพิษและธาตุโลหะหนักจากกัญชา
ซึ่งท้ายที่สุดจะเกิดผลเสียมากมายต่อสุขภาพและเศรษฐกิจที่จะตามมา
จากเหตุผลดังกล่าวมาแล้ว แพทยสภา แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ และราชวิทยาลัยต่าง ๆ ขอเน้นให้ใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างถูกวิธีที่เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ขอคัดค้านการใช้กัญชาเพื่อนันทนาการ และขอให้ทุกนโยบายที่เกี่ยวข้องกับกัญชาได้มีกลไกที่จะยับยั้งการใช้กัญชาเพื่อนันทนาการด้วยเสมอ
เอกสารนี้ ได้รับความเห็นชอบจากแพทยสภา แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ราชวิทยาลัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1.แพทยสภา
2.แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
3.ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
4.ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย
5.ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย
6.ราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูแห่งประเทศไทย
7.ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย
8.ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย
9.ราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทย
10.ราชวิทยาลัย โสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทย
11.ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย
12.ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย
13.ราชวิทยาลัยวิสัญญีแพทย์แห่งประเทศไทย
14.ราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย
15.ราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์แห่งประเทศไทย
16.ราชวิทยาลัยประสาทศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย
17.วิทยาลัยแพทย์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทยฯ
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : prachachat.net