ปวดหัวไมเกรน (Migraine Headache) อาการปวดศีรษะที่ไม่ธรรมดา ทั้งจากระดับความปวดที่รุนแรงกว่า และระยะเวลาของอาการที่ยาวนานกว่า จนสร้างความรู้สึกทรมานและกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตาม ‘ไมเกรน’ ไม่ได้แสดงออกผ่านอาการปวดศีรษะเพียงอย่างเดียว แต่ยังออกอาการเชื่อมโยงไปถึงสัมผัสต่างๆ ที่เราหรือใครอาจไม่เคยรู้ โดย หมอโอ๊ต นพ.พงศกร จินดาวัฒนะ คุณหมอจากโรงพยาบาลกรุงเทพได้เผยสาเหตุของโรคไมเกรนอย่างละเอียดดังนี้
ปวดศีรษะไมเกรนคนไทยเป็นมากน้อยขนาดไหน?
จากสถิติค่อนข้างตอบยาก เนื่องจากปวดศีรษะเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งนอนพักผ่อนน้อย เป็นไข้ ก็สามารถปวดศีรษะได้ สำหรับอาการปวดไมเกรนเป็นความผิดปกติบางอย่างของสรีระร่างกายในเวลานั้น มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ส่งผลต่อหลอดเลือดในสมอง สำหรับสถิติถ้าหากมาหาหมอก็จะมีการบันทึกไว้ แต่บางคนกินยาเองแล้วหายก็ไม่ได้มีการบันทึกไว้ ขณะที่สถิติจากเมโยคลินิก สหรัฐอเมริกา พบว่า ผู้หญิง 18 – 20% มีอาการไมเกรน ขณะที่ผู้ชายพบ 6 – 8% ซึ่งสัมพันธ์กับฮอร์โมนเพศหญิง สำหรับประเทศไทยสถิติที่ชัดเจนยังไม่มี แต่เชื่อว่ามีจำนวนไม่ต่างกัน
โรคไมเกรนเกิดได้บ่อยในวัยไหน?
เกิดได้พอๆ กันในทุกวัย ทั้งเด็ก วัยรุ่น และวัยทำงาน แต่เมื่ออายุเกิน 50 ขึ้นไปแล้ว จะมีอาการน้อยลงเนื่องจากฮอร์โมนในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง
อาการของไมเกรนมีลักษณะแบบไหน?
ไมเกรนจะมีลักษณะเฉพาะ โดยสาเหตุมาจากเกิดการเปลี่ยนในหลอดเลือดสมองที่ไม่ปกติ แต่เป็นอาการชั่วคราว ไมเกรนจะมีอาการนำมาก่อน เช่น รู้สึกร้อนวูบวาบ ตาเห็นแสงแวบๆ ซึ่งอาการนำของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน หลังจากนั้นจะมีอาการปวดศีรษะตามมา อาการที่เกิดขึ้นบ่อยมักจะปวดหัวข้างเดียว ปวดตุบๆ ตามจังหวะการเต้นของหัวใจ ในขณะที่อาการปวดหัวสองข้างก็เป็นได้แต่พบน้อยกว่า และมีอาการทางร่างกายร่วมด้วยเสมอ เช่น คลื่นไส้อาเจียน หงุดหงิดไม่สบายตัว มีความไวต่อสิ่งเร้ารอบตัว อ่อนเพลียนอนไม่หลับ ถ้าไม่ได้รักษาอาการมักจะหายได้เองภายใน 24-48 ชั่วโมง
ปวดหัวมากลามไปถึงคอเรียกว่าปวดหัวไมเกรนหรือไม่?
อาการปวดหัวไมเกรนคืออาการที่ปวดซ้ำอยู่บ่อยๆ เคยเป็นแล้วมีอาการเหมือนเดิม หากกินยารักษาไมเกรนหายคือโรคไมเกรน แต่หากมีอาการปวดที่เกิดขึ้นใหม่ ไม่เคยปวดในลักษณะนี้เลยควรพบแพทย์ หรือสังเกตอาการให้ละเอียดว่ามีอาการนำหรือไม่
มีวิธีบรรเทาอาการอย่างไร?
หากปวดน้อย ไม่อยากทานยา เมโยคลินิกสหรัฐอเมริกา แนะให้นอนพักอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เงียบ มืด จากนั้นประคบเย็น ถ้ามีอาการเยอะมากต้องใช้ยาช่วย โดยสามารถใช้ยาแก้ปวดทั่วไปได้ แต่หากมีอาการคลื่นไส้อาเจียนหรืออาการอื่นๆ ร่วมด้วย ต้องทานยากลุ่มรักษาโรคไมเกรน
เมื่อกินพาราเซตามอล 1 เม็ดแล้ว เมื่อครบ 4-6 ชั่วโมง อาการไม่ดีขึ้น สามารถกินยาบรูเฟนได้ไหม และกินบ่อยจะเป็นอันตรายต่อร่างกายหรือไม่
สามารถทานได้ อาจเริ่มด้วยยาแก้ปวดทั่วไปก่อน หากไม่ดีขึ้นสามารถเปลี่ยนกลุ่มยาแก้ปวดได้ ถ้าไม่แน่ใจควรพบแพทย์
ถ้าเป็นไมเกรนซ้ำๆ ถือว่าเป็นแล้วรักษาไม่หายขาด?
คนที่เคยเป็นแล้วมีโอกาสเป็นซ้ำได้อีก เมื่อเจอสิ่งกระตุ้น ซึ่งมีวิจัยทางการแพทย์พบว่าอาการไมเกรนมีสิ่งกระตุ้น เช่น การเปลี่ยนแปลงของอากาศอย่างกะทันหัน กลิ่น การทานอาหาร ผู้หญิงใกล้ถึงวันมีประจำเดือน ซึ่งสิ่งกระตุ้นของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน เมื่อเจอสิ่งกระตุ้นก็สามารถเกิดอาการได้อีก จึงไม่สามารถใช้ว่าหายขาดหรือไม่หายขาดได้
โรคไมเกรนอันตรายไหม?
โรคไมเกรนจริงๆ ไม่น่ากลัว แต่หากปวดหัวอย่างอื่นแล้วหลงคิดว่าเป็นไมเกรน ซึ่งควรพบแพทย์เพื่อได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง
สารให้ความหวานแอสปาแตมในน้ำอัดลม เป็นตัวกระตุ้นไมเกรนใช่หรือไม่?
ในวิจัยทางการแพทย์พบว่ามีสารให้ความหวานบางชนิดกระตุ้นให้เกิดอาการไมเกรน แต่ไม่ได้กระตุ้นในทุกคน ขณะที่สารเคมีทั้งหลายสามารถเป็นตัวกระตุ้นไมเกรนได้ เช่น สารขัณฑสกร หรือสารแต่งกลิ่น
ดื่มกาแฟดำช่วยลดอาการปวดไมเกรนได้หรือไม่?
กาแฟดำมีสารคาเฟอีนซึ่งอยู่ในกลุ่มออร์โกทามีน ซึ่งเป็นตัวที่นำมาสกัดเป็นยาช่วยบรรเทาอาการปวดไมเกรน ผู้ป่วยศรีษะบางคนกินกาแฟดำแล้วสามารถช่วยได้ แต่ไม่ควรใช้เป็นตัวรักษา
ข้อห้ามคนป่วยไมเกรน
- หลีกเลี่ยงตัวกระตุ้น
- หลีกเลี่ยงความเครียด
- ต้องนอนหลับให้เพียงพอ
- เมื่อรู้ว่าปวดต้องรีบกินยา
อยากหายขาดต้องทำอย่างไร
อาการไมเกรนเมื่อเจอสิ่งกระตุ้นจะทำให้อาการกำเริบได้ แต่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และยังมีการรักาาทางเลือกที่ใช้รักษาสำหรับผู้ไม่อยากทานยา เช่น การฝังเข็ม ที่ช่วยรักษาอาการในครั้งนั้นๆ ได้
น้ำมันกัญชาช่วย
ยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ว่าสามารถเอามาใช้รักษาไมเกรนได้ แต่คุณสมบัติของน้ำมันกัญชาช่วยให้ผ่อนคลาย ช่วยให้เครียดน้อยลง ดังนั้นเมื่อเครียดแล้วทำให้เป็นไมเกรน การใช้น้ำมันกัญชาอาจช่วยลดความเครียดส่งผลให้ไมเกรนลดลงได้ ต้องติดตามข้อมูลวิจัยต่อไป
สามารถกินยาไมเกรนพร้อมกับยานอนหลับได้หรือไม่
ยังไม่มีข้อห้ามในการกินที่ชัดเจน แต่คุณสมบัติในกลุ่มยารักษาไมเกรนใกล้เคียงกับคาเฟอีนซึ่งจะไปกระตุ้นประสาทให้เกิดการตื่นตัว เมื่อกินคู่กับยานอนหลับอาจทำให้กระสับกระส่ายกว่าเดิม
ขอบคุณข้อมูล : บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด(มหาชน) : BDMS
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : pptvhd36.com