“กัญชา” พืชที่เราเคยรู้จักกันว่าเป็นพืชต้องห้าม แต่ตอนนี้กลายเป็นพืชที่มี “บทบาทสำคัญในด้านการแพทย์” โดยเฉพาะบทบาทใหม่ในการ “รักษามะเร็ง”
ช่วงที่ผ่านมาเรามักได้ยินเกี่ยวกับประเด็นของการใช้สารสกัดจากต้นกัญชาในการรักษาโรคมะเร็ง ทำให้หลายคนเกิดความสงสัยว่า แท้จริงแล้วใบกัญชานั้นสามารถนำมาใช้ในการรักษาโรคมะเร็งได้จริงหรือไม่ ซึ่งแพทย์ได้อธิบายดังนี้
สารสกัดจากกัญชามีประโยชน์ในการรักษากัญชามีสารประกอบที่เรียกว่า Cannabinoids จำนวนมาก โดยมีตัวหลัก คือ THC (Tetrahydrocannabidiol) และ CBD (Cannabidiol) ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์
ฤทธิ์ของ THC ต่อจิต ประสาท ทำให้ผ่อนคลาย นอนหลับ ลดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และกระตุ้นให้อยากอาหาร ส่วน CBD มีฤทธิ์ช่วยลดการอักเสบ ลดอาการชักเกร็ง และมีคุณสมบัติยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์เนื้องอกหลายชนิดในหลอดทดลอง
จริงอยู่ที่ว่ากัญชามีประโยชน์ทางการรักษามากมาย แต่ทั้งหมดก็ต้องอยู่บนฐานที่ว่ามีการใช้ที่พอดี และต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์เท่านั้น เรามาดูกันว่ามีข้อกำหนดอะไรบ้าง
รู้จัก “กัญชา” ให้มากกว่าที่เคยรู้
มีการศึกษาผู้ที่ใช้ผลิตภัณฑ์จากกัญชา พบว่า “กัญชา” ช่วยลดอาการคลื่นไส้ อาเจียน จากการทำเคมีบำบัดได้ แต่ทั้งนี้ยังมีผลข้างเคียงเล็กน้อย เช่น มึนงง ง่วง และอ่อนเพลีย
แม้จะมีข้อมูลการศึกษาที่พบว่า สามารถช่วยรักษาอาการปวดจากมะเร็งได้ แต่การบรรเทาอาการอื่นๆ เช่น อาการเบื่ออาหาร หรือนอนไม่หลับนั้น ข้อมูลการศึกษาก็ยังไม่ชัดเจน
ฉะนั้น การใช้สารสกัดจากกัญชาในกรณีนี้ จึงต้องพิจารณาเป็นรายบุคคล และต้องเฝ้าระวังโดยติดตามอาการข้างเคียงจากการใช้อย่างใกล้ชิดด้วย
อันตรายจากการใช้ยากัญชาที่ไม่ได้วางแผนการรักษากับแพทย์ (หาซื้อมาใช้เอง)
การใช้ยากัญชาที่ไม่ได้มีการวางแผนการรักษาและไม่ได้มาตฐานการผลิต จะไม่สามารถกำหนดความเข้มข้นของปริมาณสารกัญชา และอาจจะมีสารพิษอื่นๆ เจือปน จึงอาจเกิดอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ง่วงซึม เวียนศีรษะ มองเห็นสีผิดปกติ คลื่นไส้ ความจำลดลง ความดันโลหิตต่ำ ปากแห้ง เกิดความผิดปกติทางจิต เช่น ซึมเศร้า สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ต้องกินยาตลอด ห้ามหยุดยา แล้วหันมาใช้ยากัญชาในการรักษา เพราะจะทำให้เกิดอันตรายจนเสียชีวิตได้
จะซื้อผลิตภัณฑ์กัญชาเพื่อการแพทย์เองได้หรือไม่?
สารสกัดกัญชาหรือยากัญชา ไม่มีวางจำหน่ายทั่วไป แม้ผู้ป่วยที่จะได้รับการรักษาด้วยยากัญชา ก็ไม่สามารถซื้อสารสกัดกัญชาใช้เอง แต่ต้องผ่านการวางแผนการรักษาจากแพทย์ นอกจากนี้บุคลากรทางการแพทย์ที่จะให้การรักษาด้วยสารสกัดกัญชา จะต้องผ่านการอบรมมีใบอนุญาตการสั่งจ่ายรักษา ก่อนจะจ่ายผลิตภัณฑ์กัญชาที่ได้รับจากสถานที่ผลิตมาตฐานที่กระทรวงสาธารณสุขรับรอง และต้องพิจารณารักษาด้วยวิธีอื่นก่อน เพราะยากัญชาไม่ใช่ตัวเลือกแรกในการรักษาโรค
สิ่งที่ผู้ป่วยเริ่มใช้สารสกัดกัญชาต้องรู้
เข้าใจข้อมูลเรื่องสารกัญชาก่อนการรักษา : สารสกัดกัญชาไม่ใช่ทางเลือกแรก ในการรักษา, ใช้รักษาเสริมจากการรักษาตามมาตรฐาน มิใช่หยุดการรักษาที่มีอยู่, ผู้ป่วยต้องเข้าใจถึงประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น, การใช้สารสกัดกัญชาที่ได้มาตรฐานและทราบอัตราส่วนสารสำคัญ (THC และ CBD) ที่ชัดเจน
เมื่อเริ่มใช้สารสกัดกัญชา : ควรเริ่มในปริมาณที่น้อยที่สุด หากยังไม่ได้ผล ปรับเพิ่มในปริมาณน้อยๆ ช้าๆ, ควรมีผู้ดูแลอยู่ด้วยเมื่อเริ่มใช้ หากเกิดผลข้างเคียงให้รีบนำผู้ป่วยพบแพทย์ทันที, การให้สารสกัดกัญชาในครั้งแรก ควรให้ในเวลาก่อนนอนและมีผู้ดูแลใกล้ชิด
แจ้งให้แพทย์ทราบว่าใช้ยาประเภทใดอยู่ : เพราะสารสกัดกัญชาอาจส่งผลต่อยาบางชนิดที่ผู้ป่วยใช้เป็นประจำ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย
ในปัจจุบันเรื่องนี้ยังเป็นเรื่องที่ต้องทำการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมอีกมากไม่ว่าอย่างไร…ก่อนจะตัดสินใจเลือกใช้ “กัญชาทางการแพทย์” มาร่วมในการรักษาโรคต่างๆเราควรศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด และเป็นข้อมูลที่ถูกต้องจากการทดลองทางการแพทย์ เท่านั้น
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : pptvhd36.com