ไขข้อสงสัยกินดื่ม ‘กัญชา-กัญชง-กระท่อม-แอลกอฮอล์’ บริจาคเลือดได้หรือไม่ และต้องเตรียมตัวอย่างไร เช็กที่นี่!
นับตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 สถานการณ์การบริจาคโลหิตกลับลดลงอย่างมากถึงร้อยละ 50 จนเกิดปรากฏการณ์โรงพยาบาลใหญ่ทั่วประเทศ ประกาศขาดเลือดพร้อม ๆ กันในช่วงที่ผ่านมา นับเป็นอีกหนึ่งวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์
แต่หากจะให้ปล่อยสถานการณ์ให้เป็นเช่นนี้ต่อไป อาจเกิดอันตรายแก่ผู้ป่วยถึงขั้นเสียชีวิตได้ เพราะโลหิตเป็นเรื่องจำเป็นและมีความสำคัญในการใช้รักษาผู้ป่วย ซึ่งยังไม่มีสิ่งใดทดแทนได้
นอกจากการบริจาคโลหิตจะเป็นการช่วยเหลือผู้ป่วยแล้ว ยังทำให้ตัวผู้บริจาคเองสุขภาพแข็งแรงและอารมณ์ดีอีกด้วย ดังนั้นใครที่สนใจ การบริจาคเลือดนับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่อยากให้คนไทยมาร่วมช่วยกัน
อย่างไรก็ตาม หลังมีการปลดล็อก ‘กัญชา’, ‘กัญชง’ และ ‘กระท่อม’ ออกจากยาเสพติดเมื่อไม่นานมานี้ ทำให้ปัจจุบันเกิดความนิยมหันมาบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา กัญชง และกระท่อมมากขึ้น หรือถูกนำใช้ประโยชน์เพื่อทางการแพทย์ จนเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย แต่ผลิตภัณฑ์เหล่านั้น มีทั้งประโยชน์และโทษ
ดังนั้น หากผู้ใช้สารเสพติดหรือสารควบคุม ต้องการบริจาคโลหิต ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย แนะนำให้ทำตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ เพื่อความปลอดภัยทั้งต่อตัวเองและผู้ป่วยด้วยกัน
1.) สารเสพติดและสารควบคุม
สารควบคุมที่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท เช่น กัญชา กัญชง กระท่อม (ใช้เป็นยาหรือบริโภคเป็นอาหาร เครื่องดื่ม)
- กรณีใช้เป็นประจำ คือ ตั้งแต่ 1 ครั้งต่อสัปดาห์ขึ้นไป : ขอให้งดใช้ 7 วัน ก่อนบริจาคโลหิต
- กรณีใช้เป็นครั้งคราว : ขอให้งดใช้ 24 ชั่วโมง ก่อนบริจาคโลหิต
ทั้งนี้ ในวันที่บริจาคโลหิตต้องไม่มีอาการ มึนงง และ สับสน
สารเสพติดชนิดกิน ต้องเลิกเสพแล้ว เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี และต้องมั่นใจว่าไม่กลับไปเสพอีก จึงจะสามารถบริจาคโลหิตได้
สารเสพติดชนิดฉีด งดบริจาคโลหิตถาวร แม้จะเลิกฉีดแล้วก็ตาม เนื่องจากเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ถ่ายทอดทางโลหิตและมีผลต่อจิตประสาท
2.) การดื่มแอลกอฮอล์
ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ควรงดดื่มแอลกอฮอล์ 7 วัน ก่อนบริจาคโลหิต เนื่องจากอาจมีการทำงานของตับบกพร่อง ร่างกายไม่สามารถขจัดแอลกอฮอล์ออกจากโลหิตได้ดี และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย
ดื่มแอลกอฮอล์เป็นครั้งคราว ควรงดดื่มแอลกอฮอล์ 24 ชั่วโมง ก่อนและหลังบริจาคโลหิต เนื่องจากมีผลต่อระบบไหลเวียนโลหิตร่างกายขาดน้ำ อีกทั้งฟื้นตัว หลังการบริจาคช้ากว่าปกติ
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : pptvhd36.com